วันอาสาฬหบูชา
ความเป็นมาของวันอาสาฬหบูชานั้น
เริ่มต้นจากในครั้งพุทธกาล หลังจากพระศาสดาตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน 6 แล้วทรงเสวยวิมุตติสุข คือ ความสุขจากการหลุดพ้นเป็นเวลา 7 สัปดาห์ หลังจากนั้นทรงพระปริวิตกว่า ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ลึกซึ้งมาก หมู่สัตว์ที่ยังมีกิเลสหนายากที่จะรู้เห็นตามได้ ท้าวสหัมบดีพรหมทรงทราบความปริวิตกของพระองค์ จึงมาทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม เพราะสัตว์ที่มีธุลีในจักษุน้อยยังมีอยู่ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยพระมหากรุณาในหมู่สัตว์ผู้ยังเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในภพสาม จึงทรงตรวจดูหมู่สัตว์ด้วยพุทธจักษุ ทรงเห็นหมู่สัตว์ที่มีกิเลสน้อยก็มี มีกิเลสมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี ที่สอนง่ายก็มี สอนยากก็มี เหมือนดอกบัวที่เกิดและเจริญเติบโตในน้ำ บางพวกก็อยู่ในน้ำลึก บางพวกก็อยู่เสมอน้ำ บางพวกก็พ้นจากน้ำแล้ว คือ บางจำพวกยังไม่พร้อมที่จะบาน บางจำพวกก็พร้อมที่จะบาน เช่นเดียวกันกับหมู่สัตว์ที่พอสอนได้ก็มีอยู่ จึงทรงรับอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม
เมื่อท้าวสหัมบดีพรหมกลับไปสู่พรหมโลกแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงดำริว่า “เราจะแสดงธรรมแก่ใครก่อน ใครจะพึงรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้เร็ว” ทรงดำริต่อว่า “อาฬารดาบสและอุทกดาบส เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม มีกิเลสเบาบางมานาน หากได้ฟังธรรมก็จะพึงรู้ทั่วถึงธรรมได้เร็ว เราควรแสดงธรรมแก่ท่านทั้งสองก่อน”
การปฏิบัติตนในวันอาสาฬหบูชา ๑. ละเว้นอบายมุขทุกประเภท
๒. ทำทาน เช่น ตักบาตรพระ ดูแลบิดามารดา และเลี้ยงสัตว์ผู้อดยาก เป็นต้น
๓. สมาทานศีล ๕ ศีลอุโบสถ และศีล ๘
๔. ฟังพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตร
๕. ปฏิบัติกรรมฐาน ทั้งสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน
๖. เวียนเทียนรำลึกรอบสัญลักษณ์ของพระรัตนตรัย เช่น โบสถ์ ต้นโพธิ์ พระพุทธรูป และธัมเมกขสถุป (สำหรับผู้ไปนมัสการ สังเวชนียสถานที่อินเดีย) เป็นต้น
๗. พึงบูชาพระรัตนตรัย ด้วยการบูชาทั้งสองประเภท คือ ทั้งอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา ทั้งนี้ ก็เพื่อความสุข ความเจริญ ของจิตใจ ของตนเองและผู้คนร่วมสังคม
วันเข้าพรรษา
ความเป็นมาของการเข้าพรรษา
ในเรื่องความเป็นมาของการเข้าพรรษา ถ้าว่ากันตามประวัติย่อๆ คือ ในยุคต้นพุทธกาล ก็ยังไม่มีการเข้าพรรษา เพราะฉะนั้นตลอดทั้งปี เมื่อพระภิกษุมีความเห็นว่าท่านควรจะไปเทศน์ ไปสอนญาติโยมที่ไหนได้ ท่านพอมีเวลา ท่านก็จะไป หรือไม่ได้ไปเทศน์ไปสอนใคร ถ้าเห็นว่าที่ไหนมันเงียบ มันสงัดดี เหมาะในการที่จะไปบำเพ็ญภาวนา ทำสมาธิ(Meditation)ของท่าน ท่านก็จะไป ซึ่งแน่นอน ส่วนมากก็จะอยู่ในเขตที่เป็นป่าเป็นเขา ไกลๆออกไปจากตัวเมือง หรือว่าต้องผ่านไปในชนบทนั่นเอง
จากการที่ท่านต้องไปอย่างนี้ เนื่องจากในฤดูฝนที่เขาทำไร่ทำนากันอยู่นั้น บางครั้ง ข้าวกล้าของเขาก็เพิ่งหว่านลงไปในนา มันเพิ่งงอกออกมาใหม่ๆ บางทีก็ดูเหมือนหญ้า พระภิกษุก็เดินผ่านไป นึกว่ามันเป็นดงหญ้า ก็เลยย่ำข้าวกล้าของเขาไป ซึ่งก็ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เขาก็มาฟ้องพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าพระไปย่ำข้าวของเขาที่ปลูกเอาไว้ หว่านเอาไว้ นกกาฤดูฝนมันยังอยู่กับรังของมัน พระทำไมไม่รู้จักพักบ้าง
เพื่อตัดปัญหานี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เลยทรงกำหนดให้พระภิกษุ เมื่อเข้าพรรษา หรือเมื่อเข้าฤดูฝน ให้พระอยู่กับที่ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 8 จนกระทั่งขึ้น 15ค่ำเดือน11 ให้อยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่ไปทำภาวนาที่ไหน ไม่ไปเทศน์โปรดใคร ถ้าใครต้องการให้โปรด ก็มาที่วัดก็แล้วกัน มาหาท่าน ไม่ใช่ท่านไปหาเขา กำหนดเป็นอย่างนี้ไป เพื่อตัดปัญหาไม่ให้ใครมาบ่นลูกของพระองค์ได้
แต่อีกมุมมองหนึ่ง พระองค์ทรงถือโอกาสที่เกิดเป็นปัญหานี้ ได้ทรงเปลี่ยนคำครหาให้กลายเป็นโอกาสดีของพระภิกษุว่า ถ้าอย่างนั้นพระภิกษุอยู่เป็นที่ในวัดวาอาราม เพื่อที่จะให้พระใหม่ได้รับการอบรมจากพระเก่าได้เต็มที่ เพราะว่าจริงๆแล้ว ในการอบรมถ่ายทอดศีลธรรม ถ่ายทอดธรรมวินัยให้แก่กันและกันนั้น ถ้าทำอย่างต่อเนื่อง ทำเป็นที่เป็นทางต่อเนื่องกันทุกวันทุกวัน อย่างนี้จะเป็นการดี การศึกษาธรรมะอย่างต่อเนื่องมีผลดี
กิจกรรมสำหรับพุทธศาสนิกชนในวันเข้าพรรษา
๑. ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา
๒. ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่ภิษุสามเณร
๓. ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล
๔. อธิษฐาน งดเว้นอบายมุขต่างๆ
ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาข้าพเจ้าได้ไปทำบุญตักบาตร และให้อาหารปลาที่วัดและปฎิบัติตนตามหลักพระพุทธศาสนา